วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทำไมละครต้องสะท้อนสังคม?

          จบกันไปแล้วสำหรับละครชื่อดังในยุคนี้ Hormones the series, season 2 กับฉากจบที่เรียกได้ว่ากินใจและสะเทือนอารมณ์ของคนที่ได้รับชม เพราะมีทั้ง สุข ทุกข์ เศร้า ซึ้ง และกินใจมากๆ เลยทีเดียว แต่ในวันนี้ผมขอมาเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นๆ หนึ่งที่ยังคงร้อนแรงมากๆ ในสังคมไทย ทำไมละครต้องสะท้อนสังคมนั่นเองครับ

(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/HormonesTheSeries)

          ขอแนะนำก่อนว่า Hormones the series เป็นละครวัยรุ่นเรื่องใหม่จากค่ายทำหนัง GTH และ นาดาว ที่ให้คุณได้สัมผัสชีวิตวัยรุ่นแบบตรงไปตรงมา เมื่อหนุ่มสาววัยฮอร์โมนพลุ่งพล่านกลุ่มนี้ เดินมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุก, ความคะนอง, ความผิดหวัง, ความสมหวัง, ความรัก, ความเกลียด, ความฝัน อารมณ์และเรื่องราวสับสนโลดโผนต่างๆ ซัดเข้ามาในชีวิตอย่างจังจนพวกเขาต้องเซไป ใช่... เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยอย่างนี้นี่แหละ แต่มันก็เป็นวัยเดียวที่เรายังเหนื่อยโดยที่มีเสียงหัวเราะดังสะท้อนเป็นเพลงประกอบได้

(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/HormonesTheSeries)
          น่าจะเข้าใจกันดีว่า Hormones the series เป็นละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาหลักๆ ของคนในสังคม จากการดำเนินเรื่องของตัวละครหลักทั้งหมดจะทำให้ผู้ชมได้พบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยซึ่งเป็นปัญหาของคนในวัยที่ค่อนข้างจะมีการเรียนรู้มากที่สุดซึ่งก็คือวัยรุ่น นอกจากนี้ ตัวละครในเรื่องก็จะพาผู้ชมก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นจนมาถึงจุดจบของตัวบทละครครับ

(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/HormonesTheSeries)
          หลายคนอาจจะเคยตั้งคำถามว่า ละครควรจะสะท้อนสังคม หรือ ชี้นำสังคมกันแน่ ข้อโต้แย้งทั้งสองนี้อยู่ภายใต้คำถามหลักว่า ละครก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไร ซึ่งในวันนี้ผมขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทั้งสองนี้สักเล็กน้อย โดยจะขออนุญาตยกตัวอย่างจาก Hormones the series มาเป็นกรณีศึกษาครับ
(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/HormonesTheSeries)
          ทำไมละครถึงต้องสะท้อนสังคม?
          ผมมองว่าละครสะท้อนสังคมเป็นเหมือนกับกระจกที่ส่องให้เห็นสภาพปัจจุบันของสังคมเรา ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเรียกเรทติ้งได้ดีมากเท่านั้น ในทางเดียวกัน ผมคิดว่าการที่เรทติ้งของละครสะท้อนสังคมมีอยู่ในระดับสูง นั่นเป็นเพราะคนในสังคม ยอมรับ ว่ามันเกิดขึ้นจริง บางทีอาจเป็นประเด็นที่ไม่เคยกล่าวถึงในชีวิตจริงของคนในสังคม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การชกต่อยระหว่างสถาบัน รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ไม่เคยนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจังในสังคมกันเสียที จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในสังคมไทย ซึ่งถ้ามองในมุมกลับกัน ละครสะท้อนสังคมเป็นเพียงการนำเสนอสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นจริงๆ ในสังคม มาทำให้คนในสังคมได้เห็นและตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้น

(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/HormonesTheSeries)
          แล้วละครชี้นำสังคมควรเป็นอย่างไร
          สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงมากที่สุดคือรูปแบบของการนำเสนอละครในรูปแบบใหม่ ที่สามารถเป็นทั้งละครสะท้อนสังคมและชี้นำสังคมไปได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนตัวผมคิดว่า Hormones the series เป็นละครเรื่องแรกที่ทำให้เห็นปัญหาของสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งบางปัญหาก็เป็นปัญหาที่คนในสังคมละเลย ปล่อยวาง ไม่ได้สนใจหรือกลับมาหาทางแก้ไข แต่ Hormones the series เป็นละครที่นำพาตัวละครที่พบปัญหาเหล่านั้นก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ โดยการเสนอทางออกให้กับผู้รับชม ซึ่งถามว่าในชีวิตจริงแล้ว จริงอยู่ที่เราสามารถแก้ไขปัญหาได้มากมายหลายวิธี แต่ Hormones the series นำเสนอทางออกที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วถ้าตัวผมเองเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับตัวละครในเรื่อง 


ทุกวันนี้ในสังคมไทยเรามีละครให้เลือกดูมากมาย
แต่อย่าลืมว่าละครเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการ
เพราะฉะนั้นแล้วดูละครแล้วย้อนมาดูตัวกันเถอะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น